เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวัน SME DAY โลก เพื่อแสดงความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ MSME ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal สสว. จึงจัดงาน SME DAY 2023 ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่องานว่า “รวมพลังโต” จับมือ 46 พันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และหน่วยงานเครือข่าย อาทิ กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ธนาคารออมสิน ฯลฯ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อบูรณาการการส่งเสริม SME ในการพัฒนาข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ www.smeone.info
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเฉลี่ยมากกว่า 6 แสนครั้งต่อปี และมีจำนวนหน่วยงานที่แลกเปลี่ยนเนื้อหาข่าวสารกันมากกว่า 70 หน่วยงาน ถือว่า ประสบความสำเร็จในเชิงความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา MSME อย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง สสว.พร้อมทำหน้าที่เชื่อมโยงและติดตามให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานประสานกัน เพื่อความสะดวก รวดเร็วและง่ายขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ แบบที่เรียกว่า “ทุกอย่างครบ จบที่เดียว”
ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขจาก สสว.ระบุว่า ความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ MSME ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goal นั้นเนื่องมาจาก MSME คิดเป็นกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดทั่วโลก และสร้างงานมากกว่า 60 - 70% ของตำแหน่งงานทั่วโลก สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจโลกถึง 50% รวมถึงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับชาติ
“สำหรับประเทศไทย พบว่ามีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ MSME มากกว่า 3,187 ล้านราย มีอัตราการจ้างานเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ถึง 12.83 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าในปี 2566 จะมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 12.98 ล้านคน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยในธุรกิจ MSME คือฟันเฟืองสำคัญต่อการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ สสว.จึงตั้งเป้าจะผลักดันผู้ประกอบการ MSME ไทย ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ของประเทศ 45% ภายในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35%” นายวีระพงศ์ มาลัย ผอ. สสว.กล่าว
นายวีระพงศ์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “สสว. ดูแลธุรกิจอยู่ 3 ขนาด คือ รายย่อย (Micro) ขนาดย่อม (Small) และขนาดกลาง (Medium) เคยมีกรณีแม่ค้าขายเห็ดทอดในตลาดนัด ซึ่งจัดเป็นรายย่อยหรือ Micro เข้าร่วมอบรมพัฒนาสินค้าจนกลายเป็นเห็ดทอดที่ไม่อมน้ำมัน ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศแถบตะวันออกกลาง ต้องมีทั้งมาตรฐานฮาลาล และโรงงานการผลิต เขาใช้เวลา 3-4 ปีเท่านั้นก็เปลี่ยนจากธุรกิจรายย่อยขายเห็ดทอดที่ตลาดนัด เป็นธุรกิจขนาดกลางที่ส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงของภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงานในวันนี้ หากผู้ประกอบการ MSME เดินทางเพียงลำพัง เขานึกไม่ออกแน่ๆว่า จะติดต่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างไร จะไปกระทรวงพาณิชย์อย่างไร เข้ามาปรึกษากับ สสว.ได้ฟรี เรามีโครงการมากมาย เช่น BDS “SME ปัง ตังได้คืน” “จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน” หรือระบบ SME ACCESS ดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบ e-Service ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล”
นอกจากนั้น ภายในงาน SME DAY 2023 “รวมพลังโต” ยังมีเสวนาหัวข้อ ติดต่อรัฐไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน / Showcase โตหลายเท่าแค่เข้าถึง SME ACCESS : ความสุขคำโตกับแนวคิด BCG Mode เพื่อคนไทยกินอะไรก็สุขทุกคำ ด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัลแพลตฟอร์มออนไลน์ของ สสว. ได้แก่ SME COACH , SME ONE, THAI SME-GP รวมถึงแอปพลิเคชัน SME CONNEXT เป็นตัวช่วยในการขยายธุรกิจ พร้อมทลายขีดจำกัดในการประกอบธุรกิจ ทำให้เติบโตอย่างมีทิศทางและมั่นใจ Talk show “อัปเดตเทรนด์การตลาดที่ SME ไม่ควรพลาด” โดย คุณปฤณ จำเริญพานิช (Digital Prince) ที่ปรึกษาและวิทยากรด้าน Digital Marketing รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ SME ครึ่งปีหลัง 2566 เป็นต้น